14 พฤศจิกายน 2552

วิถีชีวิตคนมีมือถือ

มือถือที่จะพูดถึงในที่นี้คือโทรศัพท์มือถือที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีนะครับ ไม่ใช่มือที่เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายซึ่งใช้จับใช้ถืออะไร

เป็นเวลาเกือบสิบปีแล้วที่ผมมีมือถืออยู่ใกล้ตัวแทบจะตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ด้วยความเคยชินหรืออย่างไรไม่ทราบ จะดีหน่อยก็ตอนอาบน้ำไม่เอาเข้าห้องน้ำไปด้วย เพราะมันคงทุลักทุเลมากในการรับสายขณะอาบน้ำ แต่ที่น่าอนาจใจยิ่งกว่าคือในขณะที่กำลังนั่งชักโครก (มือถืออยู่ในกางเกงพอดี) เกิดมีคนโทรเข้า ถ้าเจอแบบนี้ผมไม่รับสายหล่ะครับ ไม่ว่าใครโทรมาก็ตาม เพราะคงจะไม่สุภาพอย่างมากถ้ารับสายไปด้วย

คนวัยสามสิบต้นๆอย่างผม จัดเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากโลว์เทคไปไฮเทค ได้มีโอกาสเห็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่างๆตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ ผมเคยได้ใช้ "โทรศัพท์เคลื่อนที่" ซึ่งจะให้เรียกว่าโทรศัพท์มือถือก็ตะขิดตะขวงใจ เำพราะขนาดที่ใหญ่โต มีน้ำหนักสี่กิโลกว่า ไม่ได้โทรหาใครหรอกครับก็โทรเข้าเบอร์บ้านตัวเองนั้นแหละ นอกจากนี้ยังเคยลองใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นคลาสสิค ซึ่งเรียกกันเล่นๆว่ารุ่นกระดูกหมา ที่พูดมาทั้งหมดนั้นไม่ใช่ของส่วนตัวนะครับ เด็กๆสมัยนั้นยังไม่มีใครมีมือถือเป็นของตัวเองหรอก อย่างที่บ้านผมมีกันห้าคนพ่อแม่ลูก พ่อผมมี Nokia 101 คนเดียว ยังเก็บไว้อยู่เลย ส่วนแม่กับลูกก็ยืมพ่อใช้
ถ้าจะให้ไล่เรียงเทคโนโลยีของมือถือจนมาถึง iPhone หรือ blackberry ก็จะเกินความสามารถไปหน่อย แต่มีประเด็นที่อยากจะกล่าวถึงมือถือในแง่ที่กระทบกับวิถีชีวิตของตัวเองและคนรอบข้างเท่าที่สังเกตพบ

สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ได้จัดพิมพ์หนังสือ "มือถือ...ในมือเด็ก" เขียนโดยคุณฐิตินันต์ ศรีสถิตและคุณอวยพร แต้ชูตระกูล เป็นคู่มือเพื่อการใช้โทรศัพท์มือถือของเด็กและเยาวชนอย่างสร้างสรรค์ เท่าทันและปลอดภัย ภายในประกอบด้วยเนื้อหาที่น่าใจมากมายเกี่ยวกับการใช้มือถือ และข้อมูลสถิติต่างๆ ส่วนที่โดนใจผมและสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของคนมีมือถืออย่างเราๆท่านๆ คือเรื่องอาการเสพติดมือถือ โดยให้สำรวจตัวเองว่ามีอาการเข้าข่ายตามรายการต่างๆเหล่านี้หรือไม่ เช่น ตื่นเช้ามาควานหามือถือก่อน เพื่อดูว่ามี missed call หรือป่าว เวลากินข้าวเอามือถือไว้ข้างจานเสมอ ลืมมือถือไว้ที่บ้านทำให้หมดความมั่นใจ และทันทีที่ออกจากเครื่องบินหรือโรงภาพยนตร์ อย่างแรกที่ต้องทำคือเช็คว่ามีใครโทรมา ฯลฯ อาการที่กล่าวมานี้คงเป็นกันบ้างไม่มากก็น้อย อาจจะมีมากกว่านี้ก็น่าจะเข้าขั้นเสพติด

โดยส่วนตัว ผมเห็นว่ามือถือทำให้วิถีชีวิตของคนเราเปลี่ยนไปอย่างน้อยสองเรื่อง

เรื่องแรก การนัดหมาย ไม่ว่าจะนัดเพื่อน นัดแฟน นัดเรื่องงาน หรือนัดอาจารย์ มักจะไม่ได้ระบุเวลาหรือแม้กระทั่งสถานที่ไว้อย่างชัดเจน โดยอาศัยประโยชน์จากการที่ทุกคนมีมือถือ เช่น นัดเพื่อนไปซื้อของที่ตลาดนัด ก็จะไปถึงก่อนแล้วค่อยโทรหากัน ประเด็นต่อเนื่องคือประโยคที่ติดปากในการคุยโทรศัพท์ของคนส่วนใหญ่ คือ จะถามอีกฝ่ายว่า "อยู่ไหน?" ผมเคยเจอกับตัวเอง เพื่อนโทรมาหาที่บ้าน คือโทรเข้่าเบอร์บ้านนะครับ พอรับสายปุ๊บ เพื่อนถามผมเลยว่า "เฮ้ย อยู่ไหน?" ไอ้เราก็งงสิ โทรมาที่บ้านเราแท้ๆดันมาถามเราว่าอยู่ไหน เลยคิดได้ว่าคงจะเคยชินที่ถามซะมากกว่าที่ต้องการได้คำตอบจริงๆ อีกครั้งหนึ่งในระหว่างสอนหนังสือ กำลังยกประเด็นเรื่องนี้มาให้นักศึกษาอภิปรายกัน บังเอิญมีคนโทรมาหานักศึกษาคนหนึ่ง มือถือก็ดังพอดี ผมอนุญาตให้นักศึกษาคนนั้นรับสาย โดยบอกกับทุกคนในห้องว่า คนที่โทรมาต้องถามว่าอยู่ไหนแน่เลย ผมไม่ได้ยินเสียงคนที่โทรมานะครับ แต่ได้ยินนักศึกษาคนนั้นตอบกลับไปว่า "อยู่วิทยาลัย เรียนหนังสืออยู่..."

เรื่องที่สอง ความสามารถในการจดจำตัวเลขจะด้อยลงเมื่อมีมือถือ ก่อนหน้านี้ผมสามารถจำเบอร์โทรศัพท์ เพจเจอร์ของเพื่อนได้มากกว่ายี่สิบเบอร์ บางคนจำได้มากกว่าผมเสียอีก อาจเป็นเพราะต้องใช้เป็นประจำเลยจำได้ ไม่ว่าจะต้องกดหมายเลขกับแป้นโทรศัพท์ หรือบอกกับโอเปอร์เรเตอร์ในกรณีต้องการเพจไปหา (คนอายุต่ำกว่าสามสิบอาจไม่เข้าใจ) ทุกวันนี้เบอร์ของแฟนยังไม่แน่ใจเลย เพราะเมมไว้แล้ว

นอกจากนี้ หากมองในเชิงคุณค่าของมือถือ นักศึกษาในมหาวิทยาัลัยที่ผมสอนบางคนมีมือถือรุ่นใหม่ ราคาแพง แต่ถูกใช้เป็นเพียงสมุดจดเบอร์โทรศัพท์ เพราะเห็นเดินไปใช้โทรศัพท์สาธารณะ โดยเปิดดูเบอร์ที่ต้องการโทรจากมือถือรุ่นใหม่ล่าสุดไปด้วย

คำกล่าวที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา คงจะมีความเป็นสากลที่ยอมรับได้ทั่วไป ชีวิตในยุคที่มือถือสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ดีไม่แพ้คอมพิวเตอร์ ทำให้เราตระหนักว่าสิ่งต่างๆเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกและแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขอให้เรารู้เท่าทัน รู้คุณค่า ตามความเหมาะสมนะครับ

หากสนใจอยากได้หนังสือ "มือถือ...ในมือเด็ก" ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://myfreezer.wordpress.com/2009/11/03/mobile-not-for-kids เข้าใจว่ามีแจกฟรีนะครับ