28 กันยายน 2560

ช่วยผมด้วย แบทแมน

ข่าวลุงวิศวกรยิงเด็กอายุ 17 ปีเสียชีวิต ทำให้ผมคิดถึง “Batman”

แบทแมนเป็นตัวละครในการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่ที่คนทั้งโลกรู้จักกันดีจากบทบาทอัศวินรัตติกาลที่ออกมาปราบปรามกำจัดเหล่าคนร้ายในยามค่ำคืนของเมืองก็อทแธมซิตี้ซึ่งเป็นเมืองในจินตนาการที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์คซิตี้

หน้าฉากของแบทแมนคือมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน Bruce Wayne เจ้าของกิจการ Wayne Enterprises ที่ธุรกิจแทบจะทุกอย่างในเมืองก็อทแธมเป็นของเขา จุดเริ่มต้นของแบทแมนมาจากการที่บรูซได้เห็นพ่อและแม่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตในขณะที่เขายังเป็นเด็ก ทำให้เขาตั้งใจที่จะจับคนร้ายมาลงโทษให้ได้ด้วยมือของเขาเองโดยไม่พึ่งกฎหมาย ซึ่งการตายของพ่อแม่เป็นปมในใจแบทแมนอยู่ตลอดชีวิต

ด้วยฐานะร่ำรวยและสติปัญญาที่เฉียบแหลม ประกอบกับความมุ่งมั่นของบรูซทำให้เขากลายมาเป็นแบทแมน ซุปเปอร์ฮีโร่ผู้ไม่มีพลังวิเศษ แต่มีเครื่องมือและอุปกรณ์แสนไฮเทคและมีอัลเฟรด พ่อบ้านผู้ซื่อสัตย์คอยช่วยเหลือในการไล่ล่าคนร้าย

ประเด็นการตั้งตัวเป็นศาลเตี้ยของแบทแมนที่มาทำหน้าที่คอยกำจัดเหล่าคนพาล ช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอ โดยไม่สนใจกระบวนการทางกฎหมาย กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในโครงเรื่องของหนัง แบทแมนภาคต่อที่ฉายในปี 2016 เรื่อง Batman v Superman: Dawn of Justice

การปะทะกันระหว่างแบทแมนกับซุปเปอร์แมนในหนังเรื่องนี้ แบทแมนมองว่าซุปเปอร์แมนเป็นภัยคุกคามในฐานะที่เป็นผู้มีพลังวิเศษเหนือมนุษย์ ไม่อาจควบคุมได้และอาจจะทำลายมนุษยชาติเพราะอย่างไรเสียซุปเปอร์แมนก็เป็นมนุษย์ต่างดาวจากดาวคริปตัน ส่วนซุปเปอร์แมนก็เขียนบทความโจมตีแบทแมนลงในหนังสือพิมพ์เดลี่แพลนเน็ตที่แฝงตัวทำงานอยู่ กล่าวหาแบทแมนจากการทำตัวเป็นผู้พิทักษ์นอกกฎหมาย ใครสนใจหนังก็ไปตามดูกันต่อ

ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรเมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบลุงวิศวกร ถ้าเป็นที่เมืองก็อทแธมอาจจะมีแบทแมนโผล่มาช่วย แต่ที่นี่ประเทศไทย

เราจะอยู่กันอย่างไรในสังคมที่มีผู้คนหลากหลาย ต่างนิสัยใจคอ จะเอาตัวรอดจากความกดดัน ความอึดอัด รวมถึงความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ถ้าไม่ต้องอธิบายหลักการและเหตุผลในทางกฎหมาย หรือลากยาวไปถึงเรื่องจิตวิทยาวัยรุ่น ผมคิดเล่นๆ คนเดียวว่าจบเรื่องนี้ด้วยการที่แบทแมนมาช่วยคลี่คลายเหตุการณ์ก็คงจะดี

กุมภาพันธ์ 2560


03 กันยายน 2560

การศึกษาแบบไทย



หลายคนอาจมองว่าการศึกษาของประเทศไทยล้มเหลว แต่ถ้าการศึกษาหมายถึงการผลิตคนและสร้างสังคมในแบบที่ต้องการแล้ว ถือว่ารัฐไทยสามารถทำได้ใกล้เคียงคำว่าสมบูรณ์แบบ 

จะมีตัวอย่างอะไรดีไปกว่าค่านิยม 12 ประการของคสช. ที่ให้นักเรียนท่องจำและนำไปปฏิบัติ ซึ่งค่านิยมเชิงอนุรักษ์นิยมแบบนี้ได้ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ก่อนที่ คสช. จะประกาศออกมาเสียด้วยซ้ำ ผ่านการผลิตซ้ำในหลากหลายรูปแบบภายใต้ระบบการศึกษาของไทย

จึงจะเห็นได้ว่าการจัดการเรียนการสอนในประเทศไทยส่วนใหญ่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม ทำให้แทบจะไม่มีที่ยืนสำหรับคนที่มีความเห็นต่าง ทำให้ความก้าวหน้าและการพัฒนาเป็นไปได้อย่างเชื่องช้า

เสรีภาพ ความเสมอภาค ความเท่าเทียม ความยุติธรรม ไม่สำคัญสำหรับห้องเรียนแบบไทย เมื่อเทียบกับ ความอ่อนน้อมถ่อมตน การมีสัมมาคารวะ เครื่องแบบการแต่งกาย ความมีระเบียบวินัย ไปจนถึงพิธีกรรม รวมทั้งระบบอาวุโส

สำหรับผมการได้สอนหนังสือเป็นสิ่งที่อยากทำมากที่สุดในชีวิตและก็โชคดีที่ได้เป็นทำสิ่งนั้นอยู่พักใหญ่ 

คิดถึงบรรยากาศในชั้นเรียน ใจหนึ่งก็อยากกลับไปสอนอีกครั้ง แต่อีกใจหนึ่งก็โล่งใจ 

23 สิงหาคม 2560

บทสรุป AFF U-16 Championship 2015

ผ่านมาแล้วกว่าสองปีนับจากวันที่ผมร่วมเดินทางไปกับทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี ในการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์อาเซียน ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
นอกเหนือจากความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการคว้าแชมป์อาเซียนและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ชนิดที่ไม่รู้ว่าตัวผมเองจะมีโอกาสแบบนี้อีกหรือเปล่าแล้ว ยังมีอีกสองสามเรื่องที่ผมอยากจะพูดถึงเป็นการส่งท้าย ซึ่งอาจจะถือว่าเป็นส่วนที่เปลี่ยนไปของชีวิตผมก็ว่าได้

🔸 ผมกลายเป็นคนถือเคล็ด
อาจเพราะบทบาทหน้าที่ของผมในครั้งนั้นคือเลขานุการทีมชาติไทยซึ่งคอยดูแลประสานงานอำนวยความสะดวกให้กับทีม พูดให้ง่ายเข้าคือเรื่องนอกสนามผมเป็นคนจัดการ (ผจก.ทีม และ ผช.ผจก.ทีมติดงานด่วนต้องเดินทางกลับเมืองไทย จึงมอบหมายงานทั้งหมดให้ผมดูแลไปก่อน) ส่วนในสนามและการแข่งขันเป็นเรื่องของสตาฟโค้ช ทำให้ผมทำได้แค่เพียงเอาใจช่วย ให้กำลังใจทีม พอลุ้นหนักเข้าก็กลายเป็นคิดไปเองว่าการปฏิบัติตัวของเราอาจจะช่วยทีมได้ ประมาณว่าถือเคล็ดนิดหน่อย เช่น ใส่เสื้อตัวเดิมในวันแข่งขันทุกนัด นั่งชมเกมที่ซุ้มม้านั่งสำรองไม่นั่งบนอัฒจรรย์ ไม่กินดื่มสังสรรค์ในคืนก่อนแข่ง ซึ่งเมื่อทำทั้งหมดนี้แล้วบังเอิญทีมชนะมาตลอด มันอาจจะเป็นการคิดไปเอง แต่จนถึงทุกวันนี้เพื่อความมั่นใจบางเรื่องผมยังถือเคล็ดอยู่บ้าง

🔸 ผมเชื่อในโชคชะตา โอกาสและศักยภาพของตัวเองมากขึ้น
โชคชะตาชักนำให้ผมได้พบปะกับคนหลายคนที่ให้โอกาสทำในสิ่งที่ผมไม่เคยได้ทำ ได้มาเรียนรู้สิ่งใหม่ ได้ทำงานที่น่าภาคภูมิใจ และถึงที่สุดทำให้ผมมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองว่าเมื่อโอกาสมาถึง ผมก็ทำได้และทำได้ดีเสียด้วย

ขอพูดถึงต้นเหตุของเรื่องทั้งหมดนี้เกิดมาจากเพื่อนสมัยมัธยมของผมคนหนึ่งชื่อว่า อ๋อ ตั้งแต่เรียนจบ ม.ปลาย ผมไม่เคยเจอกับอ๋อเลย มาเจอกันอีกทีก็ผ่านไปกว่ายี่สิบปี อ๋อชวนผมให้มาช่วยทำทีมอุบลยูเอ็มทียูไนเต็ด สักพักอ๋อก็ส่งผมมาทำงานทีมชาติ ผมทำงานร่วมกับอ๋อปรึกษาหารือทั้งเรื่องส่วนตัวเรื่องงาน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับการทำทีมฟุตบอลกันอยู่เป็นเวลาเกือบปี และเมื่อเวลานั้นมาถึงเราสองคนก็แยกย้ายกันไปอีกครั้งเหมือนกับก่อนที่เราจะพบกัน นี่คือโชคชะตา

สิ่งที่อ๋อทิ้งไว้คือแรงผลักดันส่วนหนึ่งให้ผมลาออกจากงานที่ทำมา 13 ปี ไปอยู่ที่ใหม่ งานใหม่ และทำให้ผมคิดมองหาโอกาสใหม่และพร้อมที่จะคว้าโอกาสอยู่เสมอ ซึ่งต้องขอยกความดีส่วนนี้ให้เพื่อน

การที่ผมได้ร่วมงานกับโค้ชฟุตบอลที่มีความสามารถ โค้ชพยงค์ โค้ชธร โค้ชบลู โค้ชคง โค้ชเคย์ และเจ้าหน้าที่ทีม พี่เก๋ พี่นุ ต๊ะ กาย ขวัญ นก ซึ่งตอนนี้ก็ยังอยู่ในแวดวงฟุตบอลไทยทั้งในระดับฟุตบอลเยาวชนและไทยลีก ถือเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจ รวมถึงการได้รู้จักคุ้นเคยกับน้องๆ นักฟุตบอลที่จะเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติไทยในอนาคต การได้พบปะสังสรรค์พูดคุยกับพี่ๆน้องๆ นักข่าวก็เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การจดจำ และเมื่อเวลานั้นมาถึงทุกคนก็แยกย้ายกันไปเหมือนกับก่อนที่เราจะมาพบกัน นี่คือโชคชะตา

ผมขอส่งความปรารถนาดีและความระลึกถึงทุกคนไว้ ณ ที่นี้ด้วย
ขอจบบันทึก AFF U-16 Championship 2015 ที่กว่าจะเขียนตอนจบก็ต้องรอถึงสองปีไว้เพียงเท่านี้
ได้เวลามองหาโอกาสใหม่และขอให้โชคชะตานำพาผมไปสู่ประสบการณ์ที่น่าจดจำแบบนี้อีกครั้ง
ผมเอง
9 สิงหาคม 2560













ตอนที่ 5 ชนะเหมือนได้แชมป์

7 สิงหาคม 2558 การแพ้ลาว 0-1 ในนัดเปิดสนาม นอกจากจะช่วยให้ทีมงานบริหารมีชื่อเสียงโด่งดังชั่วข้ามคืนในพันทิปแล้ว ยังทำให้ทีมชาติไทยต้องมาพบกับออสเตรเลียในรอบรองชนะเลิศอีกด้วย แม้เราจะชนะสี่นัดที่เหลือในรอบแรก ก็เป็นที่สองของสาย ส่วนลาวได้อันดับหนึ่งของสายไปพบกับพม่า
ดูตามมาตรฐานฟุตบอล เราเป็นรองออสเตรเลีย แต่ผมก็แอบหวังลึกๆ เพราะเห็นว่าถ้าเราชนะได้ก็น่าจะถึงแชมป์
ผมกับโค้ชสันติเป็นตัวแทนไปประชุมกับฝ่ายจัดการแข่งขัน โค้ชพยงค์เลือกชุดแข่งขันสีแดง เป็นการถือเคล็ดเล็กน้อย แต่สีชุดแข่งก็มีประเด็นในตอนที่เราเข้าชิงไปเจอพม่าซึ่งจะพูดถึงตอนท้าย
จุดสำคัญที่เราทำได้ดีในเกมการแข่งขันคือ เกมรับแน่น กองหน้าคม โต้กลับเป็นประตู และยิงประตูทิ้งห่างได้ถึงสามลูก แม้ตอนท้ายจะเสียจุดโทษ เด็กร้องไห้เป็นข่าวดัง แต่เราก็ผ่านออสเตรเลียมาจนได้
สารภาพตามตรงผมดีใจพอๆกับได้แชมป์ หลังจากกลับเข้าห้องพักนักกีฬาแล้ว ผมรีบไปแจ้งฝ่ายจัดว่าจะขอใส่ชุดแข่งขันสีแดงในนัดชิง แต่ก็ช้าไปเพราะทีมชาติพม่าที่แข่งจบไปก่อนหน้าเรา เลือกไปก่อนซะแล้ว ผมรู้สึกแค้นใจขึ้นมาทันที เจอกันนัดชิงละกัน...