29 พฤศจิกายน 2556

พ่อผมเป็นแกนนำม็อบ

พ่อผมก็เคยเป็นแกนนำม็อบนะ ชุมนุมประท้วงหน้าศาลากลางจังหวัดและเคยไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีด้วย แกเป็นประธาน กคข. (คณะกรรมการรณรงค์คัดค้านเขื่อนปากมูล) Search Google ก็อาจจะเจอข้อมูลอยู่บ้าง



ลำดับเหตุการณ์เขื่อนปากมูล
.
.
.
19 พ.ค.2532
- มีการจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์คัดค้านเขื่อนปากมูล (กคข.) โดยตัวแทนชาวบ้านหาดคูเดื่อ , พิบูลสงคราม, สท. พิบูลมังสาหาร,สสส.อีสาน,กลุ่มนักกฎหมายจังหวัดอุบลฯ,พ่อค้า โดยมีนายไพฑูรย์ ชอบเสียง เป็นประธาน
.
.
30 ม.ค.2533
- นสพ. Bangkok post รายงานว่าการชี้แจงเรื่องเขื่อนปากมูลของคณะ รมต.เฉลิม เกิดการวอล์คเอาท์ที่ศาลากลางและการโห่ไล่ของชาวบ้านที่ อ.โขงเจียมและ อ.พิบูลฯ

- นสพ.มติชน ,เดลินิวส์ , วัฏจักร ลงข่าวเหตุการณ์ รมต.เฉลิม ชี้แจงเขื่อนปากมูลและถูกฝ่ายค้านวอล์คเอาท์ มีการใช้ท่าทีแสดงอำนาจต่อชาวบ้าน ทำให้เกิดความไม่พอใจรุนแรงมากขึ้น

- สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และช่อง 9 อสมท. ออกรายการข่าวว่าการชี้แจงของ รมต.เฉลิมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและประชาชนอุบลราชธานีสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อนปากมูล

- กคข.โดยนายไพฑูรย์ ชอบเสียง และแม่ใหญ่ต่อม นาจาน ตัวแทนเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลและสื่อมวลชนของรัฐวางตัวเป็นกลางและรับฟังเสียงประชาชน

- กลุ่มนักศึกษาอีสาน 17 จังหวัด ม.รามคำแหงเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนและระงับโครงการเขื่อนปากมูล

- ราษฏร อ.โขงเจียมและอ.พิบูลฯ 200 คน เดินทางไปวางหรีดประนาม นักจัดรายการ ‘ข่าวบ้านเฮา’ ที่สถานีวิทยุประชาสัมพันธ์อุบลฯ เนื่องจากผู้จัดรายการดังกล่าวออกอากาศโจมตีผู้ค้านเขื่อนว่าเป็นผู้ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง ขัดขวางความเจริญเป็นเครื่องมือของมือที่สาม

- มีการทำลายบอร์ดนิทรรศการ ‘ความรู้เรื่องเขื่อนปากมูลและผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณแก่งสะพือ

11-14 ก.พ.2533

ราษฎรจากอ.โขงเจียมและ อ.พิบูลฯประมาณ 2,000 คน ชุมนุมที่แก่งสะพือและเคลื่อนตัวไปที่ศาลากลางจังหวัดอุบลฯเพื่อยื่นหนังสือประท้วง และเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน และระงับโครงการเขื่อนปากมูล ผ่านนายสายสิทธิ์ พรแก้ว ผวจ.อุบลฯการชุมนุมได้ ดำเนินไป 3 วัน 3 คืน ทางจังหวัดได้รายงานเหตุการณ์ที่บิดเบือนไปยังกระทรวงมหาดไทย ทำเนียบรัฐบาลและสื่อมวลชน มีการจ้างเกณฑ์ราษฎรจากอำเภอต่างๆ มาเป็นม๊อบสนับ สนุนเพื่อให้เกิดการปะทะฝ่ายค้าน การตัดน้ำ ไฟ บริเวณที่ชุมนุม มีการนำลวดหนาม กำลัง ทสปช. ตำรวจ ทหาร พร้อมอาวุธสงครามมาล้อมรอบกลุ่มผู้ชุมนุม มีใบปลิวโจมตีกล่าวหาผู้คัดค้านว่าเป็นคอมมิวนิสต์
.
.
.
จาก  http://www.oocities.org/munriver_2000/even.html




ความทรงจำในเรื่องคัดค้านเขื่อนปากมูลของผมไม่ค่อยชัดเ้จนนัก อาจเป็นเพราะตอนนั้นอายุเพียง 12 - 13 ปี จำได้ว่าช่วงเวลานั้นพ่อคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูล ผมก็ติดสติ๊กเกอร์คัดค้านเขื่อนที่กระเป๋านักเรียนถือไปโรงเรียน ดูข่าวพ่อพาคนไปประท้วงที่หน้าศาลากลางจังหวัด ทีวีออกข่าวว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเผาบัตรประชาชน แต่ก็ไม่รู้ว่าพ่อผมเผาบัตรไปกับเขาด้วยหรือเปล่า

พ่อเคยลงสมัครทั้ง ส.ท. ส.จ. และ ส.ส. หลายครั้ง จนกระทั่งช่วงท้ายของชีวิต พ่อได้รับเลือกตั้งเป็น ส.จ. ถ้าพูดถึงความเป็นนักการเมือง พ่อผมก็คงเป็นนักการเมืองประเภทที่มีจุดเริ่มต้นเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยอุดมการณ์อย่างแท้จริง ซึ่งผมก็ภาคภูมิใจในเรื่องนี้มาโดยตลอด

คำถามสำคัญที่ผมอยากจะรู้จากพ่อในตอนนี้ก็คือว่า ถ้าพ่อยังมีชีวิตอยู่ พ่อจะเสื้อสีอะไร??!! 555

หมายเหตุ
ภาพประกอบ: สแกนด้วยตัวเอง บางรูปมีข้อความเขียนด้านหลังด้วยลายมือของพ่ออธิบายเหตุการณ์

เสรีนิยมกับบัวสามเหล่าสี่เหล่า

ยอมรับตามตรงว่าโดยส่วนตัวผมเป็นคนที่หงุดหงิดง่ายและมักจะอารมณ์เสียกับการกระทำที่ไม่ถูกต้องของคนรอบข้าง (ตามความคิดเห็นของผม) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ !! เช่น การใช้รถใช้ถนน การปฏิบัติตัวในที่สาธารณะ ฯลฯ ซึ่งผมมีความรู้สึกว่าสังคมทุกวันนี้ช่างแย่เหลือเกินเพราะมีคนที่เห็นแก่ตัวไม่คำนึงถึงส่วนรวม แล้วก็พาลสงสัยต่อไปว่าทำไมคนเหล่านั้นถึงไม่เข้าใจบ้างเลยว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ไม่มีใครบอกหรือพวกเขาไม่เรียนรู้ จนบางครั้งผมอยากให้ทุกคนมีความคิดและทำอะไรให้เข้ารูปเข้ารอยเป็นแบบเดียวกันหมด

ในขณะเดียวกันอีกอารมณ์หนึ่ง ผมก็พยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกกันว่าเสรีนิยม (Liberalism) ซึ่งเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ ทำนองว่าโลกเราจะน่าอยู่ถ้ามีความแตกต่างหลากหลาย มีสีสันไม่ใช่มีแค่เพียงสีดำสีขาวแล้วทำอะไรคิดอะไรตามที่สังคมความคาดหวังซึ่งมันแคบเกินไป

  
เพื่อเป็นการสงบจิตสงบใจเวลามีเหตุการณ์มากระทบ ผมจึงอาศัยคำสอนของพุทธศาสนามาช่วยข่มใจให้คลายทุกข์ ด้วยความคิดของคนรู้น้อยว่า พระพุทธเจ้ายังทรงเห็นว่าคนในโลกนี้มีหลายจำพวกเปรียบได้กับบัวสี่เหล่า แล้วผมจะไปปฏิเสธความเป็นจริงของโลกในเรื่องนี้ได้อย่างไร

เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ พระองค์ทรงเห็นในเบื้องต้นว่าพระธรรมที่ค้นพบนั้นเป็นเรื่องละเอียดไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนทั่วไปจะเข้าใจและปฏิบัติได้ แต่เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้วก็ทรงพบว่าบุคคลในโลกนี้มีหลายจำพวก สอนให้รู้ได้ง่ายก็มี สอนให้รู้ได้ยากก็มี ผมก็พยามยามคิดตามว่าโลกนี้ช่างหลากหลายสีสัน มีทั้งสอนได้ สอนยากสอนเย็น และสอนไม่ได้ ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงเปรียบคนกับดอกบัวหลายประเภท ซึ่งเรารู้จักกันว่าคือบัวสี่เหล่า

มีความสับสนเรื่องดอกบัวนี้อยู่บ้าง คือ ในพระไตรปิฏกพระพุทธเจ้าทรงเปรียบบุคคลด้วยบัวสามเหล่า ได้แก่ จมอยู่ในน้ำ ตั้งอยู่เสมอน้ำ และตั้งขึ้นพ้นน้ำ ส่วนคัมภีร์ในชั้นหลังอธิบายบุคคลในปุคคลวรรคที่เปรียบบุคคลเป็นสี่เหล่า โดยเพิ่มเหล่าที่สี่เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม คือ อยู่ใต้ตม ซึ่งถ้าใครโดนด่าว่าเป็นพวกบัวใต้ตมนี่ก็แย่พอสมควร จึงเกิดความสับสนในการนำข้อความจากสองแหล่งมากล่าวอ้าง สรุปคือพระพุทธองค์ตรัสเปรียบเทียบบุคคลเหมือนดอกบัวเพียงสามเหล่าเท่านั้นตามข้อความในพระไตรปิฏก



อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาตามนัยยะของดอกบัวแล้วก็จะพบว่าพระพุทธองค์พิจารณาแล้วว่ามนุษย์อย่างพวกเราสามารถเรียนรู้พระธรรมคำสั่งสอนและมีโอกาสที่จะบรรลุธรรมและหลุดพ้นจากทุกข์ได้ พูดให้ง่ายเข้าคือ ทุกคนมีโอกาสเป็นคนดีได้ ดังนั้นก็อย่าเพิ่งหมดหวังกับเพื่อนมนุษย์นะครับ

17 พฤศจิกายน 2556

ทำไมวันเพ็ญเดือนสิบสองถึงมาอยู่ในเดือนพฤศจิกายน

"วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริง วันลอยกระทง ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง ลอยกระทงกันแล้วขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ”



คนไทยส่วนใหญ่รู้จักเพลงรำวงลอยกระทงนี้เป็นอย่างดี รวมไปถึงชาวต่างชาติอีกจำนวนไม่น้อยที่คุ้นเคยกับทำนองและจังหวะที่สนุกสนานเนื่องจากเพลงนี้ได้รับการเผยแพร่ไปเพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมอันโดดเด่นของประเทศไทย จนมีชาวต่างชาติบางคนคิดว่าเป็นเพลงชาติไทยเสียด้วยซ้ำ

ในเนื้อเพลงที่แสนจะติดปากและคุ้นหู เราเคยสงสัยกันหรือไม่ว่าทำไมวันลอยกระทงที่อยู่ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี จึงกลายมาเป็นวันเพ็ญเดือนสิบสองไปเสียได้

คำตอบก็คือเป็นการนับเดือนตามปฏิทินจันทรคติแบบไทย (Thai Lunar Calender) ซึ่งเป็นการสังเกตและนับช่วงเวลาตามการโคจรของดวงจันทร์ และใช้ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์เป็นหลัก โดยในคืนข้างขึ้นจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เป็นรูปเสี้ยวนิดเดียวแล้วค่อยๆ โตขึ้นในแต่ละวันจนเต็มดวง คืนเดือนเพ็ญจะสังเกตเห็นดวงจันทร์สว่างเต็มดวง และในคืนข้างแรมจะสังเกตเห็นดวงจันทร์ค่อย ๆ แหว่งเป็นรูปเสี้ยวเล็กลง ๆ จนในที่สุดดวงจันทร์ก็มืดทั้งดวง จนกระทั่งคืนเดือนดับที่ไม่เห็นดวงจันทร์ และเริ่มนับวันในแต่ละเดือนเริ่มวันขึ้น 1 ค่ำ จนถึงขึ้น 15 ค่ำ แล้วจึงขึ้นวันแรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 14 ค่ำ ในเดือนคี่ และวันแรม 15 ค่ำ ในเดือนคู่

ปฏิทินแบบไทยในแต่ละปีจะเริ่มนับเดือนธันวาคมเป็นลำดับที่ 1 เรียกว่าเดือนอ้าย เดือนมกราคมเป็นลำดับที่ 2 เรียกว่าเดือนยี่ และเรียงลำดับไปเป็นเดือนสาม เดือนสี่ จนกระทั่งถึงเดือนสิบสองซึ่งตรงกับเดือนพฤศจิกายน นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างของการนับเดือนไปบ้างในแต่ท้องถิ่น

ประเพณีลอยกระทงมักทำกันตั้งแต่กลางเดือนสิบเอ็ดถึงกลางเดือนสิบสองที่เป็นฤดูน้ำหลาก ดังจะเห็นได้จากบางภูมิภาคที่จัดให้มีการลอยกระทงกันในคืนวันออกพรรษา (วันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด) ส่วนความเป็นมาของการลอยกระทงจะมีจุดเริ่มต้นอย่างไร และมีความ "เป็นไทย" หรือได้ผสมกลมกลืนประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อในแบบต่าง ๆ มากน้อยเพียงใดนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจหาความรู้เพิ่มเติมต่อไป

ภาพประกอบจาก: www.mthai.com

10 พฤศจิกายน 2556

ญาติพี่น้อง

 

"มีคนคำนวณเล่น ๆ ว่า ถ้านับญาติสายพ่อย้อนไป 8 ชั่วคน (ในสังคมผัวเดียวเมียเดียว) เราจะมีบรรพบุรุษถึง 255 คน (เป็นอย่างน้อย) และหากรวมญาติสายแม่เข้าไปด้วย ก็จะกลายเป็น 510 คน
คน 510 คนนี้แต่งงานไปกับคนอื่น แล้วออกลูกออกหลานนับพัน ซึ่งล้วนเป็นญาติกับเรา ยิ่งหากนับเครือญาติของคู่สมรสในแต่ละชั้นเข้าไปด้วย กลายเป็นกองทัพมหึมาเลย"

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2556, 1-7 พฤศจิกายน). วงศ์วารวิทยาและประวิติศาสตร์. มติชนสุดสัปดาห์, 34 (1733) :หน้า 30.