29 พฤศจิกายน 2556

พ่อผมเป็นแกนนำม็อบ

พ่อผมก็เคยเป็นแกนนำม็อบนะ ชุมนุมประท้วงหน้าศาลากลางจังหวัดและเคยไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีด้วย แกเป็นประธาน กคข. (คณะกรรมการรณรงค์คัดค้านเขื่อนปากมูล) Search Google ก็อาจจะเจอข้อมูลอยู่บ้าง



ลำดับเหตุการณ์เขื่อนปากมูล
.
.
.
19 พ.ค.2532
- มีการจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์คัดค้านเขื่อนปากมูล (กคข.) โดยตัวแทนชาวบ้านหาดคูเดื่อ , พิบูลสงคราม, สท. พิบูลมังสาหาร,สสส.อีสาน,กลุ่มนักกฎหมายจังหวัดอุบลฯ,พ่อค้า โดยมีนายไพฑูรย์ ชอบเสียง เป็นประธาน
.
.
30 ม.ค.2533
- นสพ. Bangkok post รายงานว่าการชี้แจงเรื่องเขื่อนปากมูลของคณะ รมต.เฉลิม เกิดการวอล์คเอาท์ที่ศาลากลางและการโห่ไล่ของชาวบ้านที่ อ.โขงเจียมและ อ.พิบูลฯ

- นสพ.มติชน ,เดลินิวส์ , วัฏจักร ลงข่าวเหตุการณ์ รมต.เฉลิม ชี้แจงเขื่อนปากมูลและถูกฝ่ายค้านวอล์คเอาท์ มีการใช้ท่าทีแสดงอำนาจต่อชาวบ้าน ทำให้เกิดความไม่พอใจรุนแรงมากขึ้น

- สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และช่อง 9 อสมท. ออกรายการข่าวว่าการชี้แจงของ รมต.เฉลิมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและประชาชนอุบลราชธานีสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อนปากมูล

- กคข.โดยนายไพฑูรย์ ชอบเสียง และแม่ใหญ่ต่อม นาจาน ตัวแทนเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลและสื่อมวลชนของรัฐวางตัวเป็นกลางและรับฟังเสียงประชาชน

- กลุ่มนักศึกษาอีสาน 17 จังหวัด ม.รามคำแหงเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนและระงับโครงการเขื่อนปากมูล

- ราษฏร อ.โขงเจียมและอ.พิบูลฯ 200 คน เดินทางไปวางหรีดประนาม นักจัดรายการ ‘ข่าวบ้านเฮา’ ที่สถานีวิทยุประชาสัมพันธ์อุบลฯ เนื่องจากผู้จัดรายการดังกล่าวออกอากาศโจมตีผู้ค้านเขื่อนว่าเป็นผู้ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง ขัดขวางความเจริญเป็นเครื่องมือของมือที่สาม

- มีการทำลายบอร์ดนิทรรศการ ‘ความรู้เรื่องเขื่อนปากมูลและผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณแก่งสะพือ

11-14 ก.พ.2533

ราษฎรจากอ.โขงเจียมและ อ.พิบูลฯประมาณ 2,000 คน ชุมนุมที่แก่งสะพือและเคลื่อนตัวไปที่ศาลากลางจังหวัดอุบลฯเพื่อยื่นหนังสือประท้วง และเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน และระงับโครงการเขื่อนปากมูล ผ่านนายสายสิทธิ์ พรแก้ว ผวจ.อุบลฯการชุมนุมได้ ดำเนินไป 3 วัน 3 คืน ทางจังหวัดได้รายงานเหตุการณ์ที่บิดเบือนไปยังกระทรวงมหาดไทย ทำเนียบรัฐบาลและสื่อมวลชน มีการจ้างเกณฑ์ราษฎรจากอำเภอต่างๆ มาเป็นม๊อบสนับ สนุนเพื่อให้เกิดการปะทะฝ่ายค้าน การตัดน้ำ ไฟ บริเวณที่ชุมนุม มีการนำลวดหนาม กำลัง ทสปช. ตำรวจ ทหาร พร้อมอาวุธสงครามมาล้อมรอบกลุ่มผู้ชุมนุม มีใบปลิวโจมตีกล่าวหาผู้คัดค้านว่าเป็นคอมมิวนิสต์
.
.
.
จาก  http://www.oocities.org/munriver_2000/even.html




ความทรงจำในเรื่องคัดค้านเขื่อนปากมูลของผมไม่ค่อยชัดเ้จนนัก อาจเป็นเพราะตอนนั้นอายุเพียง 12 - 13 ปี จำได้ว่าช่วงเวลานั้นพ่อคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูล ผมก็ติดสติ๊กเกอร์คัดค้านเขื่อนที่กระเป๋านักเรียนถือไปโรงเรียน ดูข่าวพ่อพาคนไปประท้วงที่หน้าศาลากลางจังหวัด ทีวีออกข่าวว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเผาบัตรประชาชน แต่ก็ไม่รู้ว่าพ่อผมเผาบัตรไปกับเขาด้วยหรือเปล่า

พ่อเคยลงสมัครทั้ง ส.ท. ส.จ. และ ส.ส. หลายครั้ง จนกระทั่งช่วงท้ายของชีวิต พ่อได้รับเลือกตั้งเป็น ส.จ. ถ้าพูดถึงความเป็นนักการเมือง พ่อผมก็คงเป็นนักการเมืองประเภทที่มีจุดเริ่มต้นเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยอุดมการณ์อย่างแท้จริง ซึ่งผมก็ภาคภูมิใจในเรื่องนี้มาโดยตลอด

คำถามสำคัญที่ผมอยากจะรู้จากพ่อในตอนนี้ก็คือว่า ถ้าพ่อยังมีชีวิตอยู่ พ่อจะเสื้อสีอะไร??!! 555

หมายเหตุ
ภาพประกอบ: สแกนด้วยตัวเอง บางรูปมีข้อความเขียนด้านหลังด้วยลายมือของพ่ออธิบายเหตุการณ์