17 พฤศจิกายน 2556

ทำไมวันเพ็ญเดือนสิบสองถึงมาอยู่ในเดือนพฤศจิกายน

"วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริง วันลอยกระทง ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง ลอยกระทงกันแล้วขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ”



คนไทยส่วนใหญ่รู้จักเพลงรำวงลอยกระทงนี้เป็นอย่างดี รวมไปถึงชาวต่างชาติอีกจำนวนไม่น้อยที่คุ้นเคยกับทำนองและจังหวะที่สนุกสนานเนื่องจากเพลงนี้ได้รับการเผยแพร่ไปเพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมอันโดดเด่นของประเทศไทย จนมีชาวต่างชาติบางคนคิดว่าเป็นเพลงชาติไทยเสียด้วยซ้ำ

ในเนื้อเพลงที่แสนจะติดปากและคุ้นหู เราเคยสงสัยกันหรือไม่ว่าทำไมวันลอยกระทงที่อยู่ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี จึงกลายมาเป็นวันเพ็ญเดือนสิบสองไปเสียได้

คำตอบก็คือเป็นการนับเดือนตามปฏิทินจันทรคติแบบไทย (Thai Lunar Calender) ซึ่งเป็นการสังเกตและนับช่วงเวลาตามการโคจรของดวงจันทร์ และใช้ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์เป็นหลัก โดยในคืนข้างขึ้นจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เป็นรูปเสี้ยวนิดเดียวแล้วค่อยๆ โตขึ้นในแต่ละวันจนเต็มดวง คืนเดือนเพ็ญจะสังเกตเห็นดวงจันทร์สว่างเต็มดวง และในคืนข้างแรมจะสังเกตเห็นดวงจันทร์ค่อย ๆ แหว่งเป็นรูปเสี้ยวเล็กลง ๆ จนในที่สุดดวงจันทร์ก็มืดทั้งดวง จนกระทั่งคืนเดือนดับที่ไม่เห็นดวงจันทร์ และเริ่มนับวันในแต่ละเดือนเริ่มวันขึ้น 1 ค่ำ จนถึงขึ้น 15 ค่ำ แล้วจึงขึ้นวันแรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 14 ค่ำ ในเดือนคี่ และวันแรม 15 ค่ำ ในเดือนคู่

ปฏิทินแบบไทยในแต่ละปีจะเริ่มนับเดือนธันวาคมเป็นลำดับที่ 1 เรียกว่าเดือนอ้าย เดือนมกราคมเป็นลำดับที่ 2 เรียกว่าเดือนยี่ และเรียงลำดับไปเป็นเดือนสาม เดือนสี่ จนกระทั่งถึงเดือนสิบสองซึ่งตรงกับเดือนพฤศจิกายน นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างของการนับเดือนไปบ้างในแต่ท้องถิ่น

ประเพณีลอยกระทงมักทำกันตั้งแต่กลางเดือนสิบเอ็ดถึงกลางเดือนสิบสองที่เป็นฤดูน้ำหลาก ดังจะเห็นได้จากบางภูมิภาคที่จัดให้มีการลอยกระทงกันในคืนวันออกพรรษา (วันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด) ส่วนความเป็นมาของการลอยกระทงจะมีจุดเริ่มต้นอย่างไร และมีความ "เป็นไทย" หรือได้ผสมกลมกลืนประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อในแบบต่าง ๆ มากน้อยเพียงใดนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจหาความรู้เพิ่มเติมต่อไป

ภาพประกอบจาก: www.mthai.com